หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ระลอกแรก: เราช่วยลดผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดต่อธุรกิจสื่อของคุณได้อย่างไรในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

2 ธันวาคม 2563

เมื่อเดือนเมษายน ปี 2563, กองทุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาสื่อ หรือ Media Development Investment Fund (MDIF) ได้เผยแพร่คำแนะนำเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ต่อธุรกิจสื่อไปแล้ว

มาถึงตอนนี้ เวลาผ่านไป 8 เดือน อุตสาหกรรมสื่อทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ เราจึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่ง โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ถอดบทเรียนมาจากสื่ออิสระที่ประสบกับภาวะวิกฤตในประเทศต่าง ๆ เช่น เอกวาดอร์ แอฟริกาใต้ และอินเดีย โดยที่สื่อเหล่านี้ได้ใช้กลยุทธ์ “การบริหารจัดการช่วงวิกฤต” ของโรคระบาดและการเตรียมตัวเผชิญกับสภาพความเป็นจริงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ลดรายจ่ายและตุนเงินสดไว้ในมือ

  • ระมัดระวัง ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคระลอกแรกได้ การระบาดระลอกสองกำลังรอคุณอยู่ ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ยังควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ ย่อมไม่มีหลักประกันเลยว่าการแพร่ระบาดจะจบลง ไม่ว่ากรณีใดก็ตามสื่อจำเป็นจะต้องทำมากกว่าการบริหารจัดการช่วงวิกฤตของโรคระบาด ไปจนถึงการปรับตัวช่วงเข้าสู่สภาวะใหม่ที่ยาวนานกว่า
  • ทบทวนการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพไว้ก่อนอย่างสม่ำเสมอ กระแสเงินสดและเงินทุนหมุนเวียนสำคัญที่สุด วิเคราะห์ดูว่าธุรกิจแต่ละหน่วยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับที่ประเมินไว้ในตอนแรก เช่นการมีข้อมูลที่ละเอียดและตัวชี้วัดที่พร้อมสรรพ จะช่วยให้คุณตอบสนองต่อสถานการณ์ได้เร็วและแก้ไขเมื่อมีสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดเกิดขึ้นได้ทันท่วงที ต้องตามดูต้นทุนทุกเม็ด ดูแต่ละหน่วย แต่ละการลงทุน ทุกสัญญาและเงินกู้ทุกประเภท การบริหารต้นทุนอย่างเอาจริงเอาจังมีความสำคัญมากตลอดปี 2564 ในขณะที่ตลาดกำลังพยายามฟื้นตัว
  • วางแผนการใช้เงินสดอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่กลับมาเจอสภาวะเงินฝืดเคืองอีกเมื่อคุณเลิกแผนการลดค่าใช้จ่ายชั่วคราวลง การเลื่อนโครงการที่ใช้เงินเป็นจำนวนมากและการจ้างงานใหม่ออกไปก่อนเพื่อเก็บเงินสดไว้จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นได้
  • รายจ่ายใหม่ควรสอดคล้องกับต้นทุนที่โอนมาหรือที่ปรับลดลงจากกิจกรรมที่ไม่ได้สำคัญลำดับต้น แม้ว่าคุณจะคาดหวังว่ารายจ่ายใหม่จะทำให้เกิดรายได้ใหม่ แต่นั่นยังเป็นการหักล้างต้นทุนอยู่ดี คุณไม่อาจผิดพลาดได้ เพราะการเก็บเกี่ยวผลกำไรให้ได้ตรงตามเวลาอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
  • ใส่ใจกับธุรกิจหลักที่คุณต้องการจะรักษาไว้ทุกวิธีทางและจัดสรรทรัพยากรลงไปตรงนั้น โดยกำหนดให้ชัดว่าบุคลากรประเภทใดที่คุณไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากพวกเขา และให้แน่ใจว่าคุณจะไม่สูญเสียพวกเขาไป
  • ถ้าคุณได้รับเงินสนับสนุนกิจการ ต้องใช้ให้ถูกเรื่องและใช้เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายทางธุรกิจ โดยเน้นโครงการที่มีแนวทางที่จะทำรายได้หรือการบริหารจัดการต้นทุนอย่างชัดเจนเพื่อจะทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งเมื่อตลาดฟื้นตัว
  • รัฐบาลในหลายประเทศมีโครงการช่วยลดผลกระทบอันเกิดจากการลดเงินเดือนพนักงานหรือการว่างงาน คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้ใช้ประโยชน์จากโครงการเหล่านั้นโดยที่ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่สื่อ
  • ตอบสนองอย่างรวดเร็วแต่ยืดหยุ่น การตัดสินใจและความคล่องตัวเป็นสิ่งสำคัญ คุณต้องตัดสินได้ว่าเรื่องไหนต้องตัดสินใจเร็ว เรื่องไหนรอได้ เพื่อที่คุณจะได้จดจ่อกับเรื่องที่ใช่อย่างถูกกาละเทศะ คุณต้องจัดลำดับการตัดสินใจทันทีเพื่อทำให้คุณประหยัดเงินได้มากที่สุดและมีรายได้มากที่สุด การทวนซ้ำย้ำเตือนและการเก็บข้อมูล ณ ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอให้พร้อมใช้งาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว

ต้องเป็นนักล่ารายได้

  • อย่าหยุดทดลองหารายได้จากแหล่งทางเลือกต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าช่องทางปกติโดยมีต้นทุนต่ำ หรือหน่วยธุรกิจสามารถจัดทำแบบสำรวจความเห็นหรือวิเคราะห์ข้อมูลให้ลูกค้า อย่าเล่นแต่เกมตั้งรับเสมอไป จำไว้ว่าในภาวะที่ตลาดซบเซา นวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ
  • วางแผนหารายได้เพิ่มจากยอดผู้อ่าน/ผู้ชมที่เพิ่มขึ้น ถ้าคุณมีการรับสมาชิก ให้เน้นการสร้างรายได้จากตรงนั้นเพื่อชดเชยรายได้จากการโฆษณาที่ลดลง การมุ่งเน้นไปที่เรื่องนี้เพียงอย่างเดียวอาจช่วยส่งเสริมให้เกิดเป้าหมายร่วมกันของคนในองค์กรทั้งหมด รวมทั้งกองบรรณาธิการและฝ่ายธุรกิจ
  • พิจารณากลยุทธ์การตั้งราคาใหม่ เช่น การให้บริการจัดสัมมนาออนไลน์ และจดหมายข่าวเฉพาะเรื่อง สิ่งเหล่านี้สามารถดึงลูกค้ารายใหม่ได้ และเป็นการวางบทบาทขององค์กรที่ให้บริการแบบครบวงจรหรือที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ให้กับลูกค้า
  • ไม่ต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์ สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากMDIF และสื่ออื่น ๆ ค้นพบหนทางหารายได้ที่อาจสอดคล้องกับองค์กรของคุณ พยายามหาข้อมูลที่อาจนำมาปรับใช้กับองค์กรของคุณ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่คุณควรแสวงหาความร่วมมือแทนที่จะทำอะไรโดยลำพัง
  • รักษาความสัมพันธ์กับบริษัทโฆษณาที่มีอยู่และลูกค้ารายอื่น ๆ ไว้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คุณได้ในตอนนี้ แต่เพื่อช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้นหากพวกเขากลับมาหาคุณในอนาคต

เนื้อหาคือหัวใจสำคัญ

  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของสื่อคุณภาพที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน/ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในเชิงลึกมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากเนื้อหาที๋แตกต่างและการให้บริการแบบเจาะเฉพาะกลุ่ม และการวิเคราะห์คนอ่านอย่างเข้าใจเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง คุณต้องทุ่มเทให้กับการพัฒนาศักยภาพของระบบข้อมูลภายใน และความสามารถในการสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นให้ทีมงานเข้าใจได้ง่าย
  • ทำไมผู้อ่าน/ผู้ชมของคุณยังเสพเนื้อหาในสื่อของคุณอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าจุดแข็งของสื่อคุณคืออะไรและพัฒนาต่อไปได้อย่างไร หรือถ้าผู้อ่าน/ผู้ชมของคุณเพิ่มขึ้น การทำความเข้าใจให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไรและมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จะช่วยให้คุณสร้างกลยุทธ์ในการรักษาผู้อ่านผู้ชมไว้ได้
  • กลับมาดูที่เนื้อหาและการทำงานของห้องข่าวอีกครั้ง ถึงเวลาที่จะเลิกผลิตข่าว หมวดข่าวหรือบริการที่ไม่ตอบโจทย์ผู้อ่าน/ผู้ชมหรือยัง อะไรที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้สื่อของคุณ คุณกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องที่เพิ่มคุณค่าให้กับผู้อ่าน/ผู้ชมของคุณอยู่หรือเปล่า ทดลองทำ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และทดสอบว่าใช้ได้หรือไม่ วิกฤติครั้งนี้ทำให้คุณจำเป็นต้องทำเรื่องนี้เร็วขึ้น แต่ต้องทำตามที่บริษัทของคุณเห็นว่าควรทำ ไม่ใช่เพราะคู่แข่งของคุณหรือทำเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สื่อข่าวคนอื่น ๆ
  • พิจารณาจำกัดเนื้อหาเรื่องโรคระบาดที่ให้บริการอ่านหรือชมฟรี ต้องประเมินดูว่าคุณควรผลิตเนื้อหาแบบไหนและใครควรได้รับข่าวสารนี้ นั่นหมายความว่า ข้อมูลที่จำเป็นควรให้ทุกคนรับรู้ แต่ควรคิดค่าบริการกับเนื้อหาที่เพิ่มมูลค่าหากคุณมีเนื้อหาเหล่านั้น
  • หากคุณยังไม่ได้ลดการรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด19 อาจถึงเวลาที่คุณต้องกลับไปทำในสิ่งที่เคยทำหรือค้นหาสิ่งใหม่ที่ผู้อ่าน/ผู้ชมจะสนใจ โควิด19ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง กลับไปดูที่เนื้อหาเพื่อดูว่าความสนใจและความต้องการของผู้อ่าน/ผู้ชมเปลี่ยนไปอย่างไร

ทีมงานของคุณไม่มีภูมิต้านทานจากผลกระทบทางธุรกิจของโรคระบาด

  • ต้องโปร่งใสกับพนักงาน ลูกค้าและคนอ่าน คุณต้องสื่อสารและสร้างความไว้วางใจ ความซื่อตรงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในห้วงเวลานี้ โดยเฉพาะกับพนักงาน คุณต้องเปิดรับฟังปัญหา ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ แต่ในฐานะผู้นำ คุณคือคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย
  • นำจากแถวหน้า ผู้บริหารและผู้จัดการต้องเป็นพนักงานคนแรกที่ถูกลดเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่น ๆ
  • ในขณะที่การระบาดของโรคยังคงอยู่ ผู้นำต้องให้เวลากับพนักงานโดยคำนึงถึงการสูญเสียพลังงานและพลังสมองของพวกเขา ต้องดูแลพนักงานและพูดคุยกับพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ จัดสรรเวลาประชุมกับพวกเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อรักษาความภักดีต่อองค์กรและเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของกองบรรณาธิการ โดยเอื้อให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าว พยายามบำรุงขวัญและกำลังใจ เช่นให้มีช่วงเวลาสนุกสนานร่วมกัน
  • คิดหาวิธีการที่จะดูแลพนักงาน พิจารณานำระบบเพื่อนช่วยเพื่อนมาใช้หรือแม้แต่บริการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ
  • การรับพนักงานใหม่เข้าทำงานในองค์กรในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องยาก – อย่าประเมินว่าการเข้ามาร่วมงานใหม่ในองค์กรในช่วงล็อคดาวน์โดยไม่มีการพบปะกันระหว่างพนักงานโดยตรงเป็นเรื่องง่ายเกินไป คุณต้องให้ความสำคัญกับการจำลองกระบวนการการทำงานที่เป็นจริงบนโลกออนไลน์ โดยจัดเวลาให้พนักงานใหม่ได้พูดคุยฝ่ายบริหาร เพื่อนร่วมงานหลัก ๆ และเพื่อนร่วมงานที่พวกเขาไม่เคยติดต่อมาก่อนอย่างเต็มที่ ให้เวลาพวกเขาเพิ่มเติมเพื่อแนะแนวทางการทำงานและช่วยให้พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร

มองไปในอนาคต

  • ถอยหลังมาหนึ่งก้าว หากคุณยังไม่ได้ทำ นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้ประเมินว่าคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์และควรทำต่อไป อะไรคือช่องโหว่ในการบริหารองค์กรของคุณที่โรคระบาดเผยให้เห็น
  • คิดถึงการควบรวมทางธุรกิจ ทั้งที่คุณอาจจะเป็นผู้ริเริ่มเองหรือที่คุณจะทำหากได้รับการทาบทาม อาจเป็นเรื่องของการควบรวมกิจการ หรือกิจกรรมที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร เช่น การควบรวมทีมฝ่ายขาย หรือจ้างคนนอกมาช่วยขายโฆษณาในเรื่องที่ไม่ได้สำคัญมากนัก หรืออาจเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีต้นทุนสูงเช่นอสังหาริมทรัพย์หรือโรงพิมพ์ร่วมกับธุรกิจอื่น
  • การทำงานทางไกลอาจเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตของบางบริษัท แม้ว่าอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน ประเมินข้อดีข้อเสียของการทำงานในลักษณะนี้ในแง่ต้นทุน ผลลัพธ์ และสวัสดิภาพของการทำงาน
  • วางแผนรับมือโลกหลังการแพร่ระบาด พิจารณาดูว่าแนวโน้มอะไรที่เปลี่ยนไป เพื่อให้คุณพาบริษัทออกจากวิกฤตได้อย่างเข้มแข็ง
  • ภูมิทัศน์การแข่งขันของคุณจะเปลี่ยนไป คุณต้องเตรียมวิเคราะห์การตลาดอย่างถี่ถ้วนว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไร มีคู่แข่งใหม่หรือไม่ มีลูกค้าใหม่หรือไม่ พฤติกรรมผู้อ่าน/ผู้ชมรายใหม่เป็นอย่างไร
  • ประเด็นที่มักเกิดขึ้นเสมอในวิกฤตสื่อคือ การร่วมแรงร่วมใจ เพราะมันทำให้ประหยัดต้นทุนและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ลองดูว่ามีโครงการหรือโปรแกรมใดบ้างที่คุณและทีมงานสามารถร่วมแรงร่วมแรงได้
  • ทบทวนบทเรียนที่ได้รับจากวิกฤตครั้งนี้ ปรับปรุงและจัดทำแผนการบริหารวิกฤตของคุณเอง เพราะสิ่งที่แน่นอนคือไม่ช้าก็เร็วคุณจะต้องเจอกับวิกฤตอีก

พวกเราหวังว่าคำแนะนำข้างต้นจะช่วยให้พวกเราทุกคนฝ่าฟันวิกฤตไปสู่ช่วงเวลาที่ดีกว่าและธุรกิจที่ดีขึ้นในปี 2564

ฮาแลน แมนเดล, ประธานกรรมการบริหาร, กองทุนการลงทุนเพื่อพัฒนาสื่อ (MDIF)